Main Menu
BANGKOK PORTAL

  • ไทย
  • Eng

สาระน่ารู้

9 มิถุนายน 2489 พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 เสด็จสวรรคต
    

    “ข้าพเจ้ามีข่าวอันแสนเศร้าสลดใจอย่างสุดซึ้งที่จะแจ้งต่อรัฐสภาให้ทราบว่า ด้วยนับตั้งแต่วันที่ 2 มิถุนายน ศกนี้เป็นต้นมา สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เริ่มทรงพระประชวรเกี่ยวกับพระนาภี(ทรงมีอาการปวดท้อง-กองบรรณาธิการ)ไม่เป็นปกติและเหน็ดเหนื่อย ไม่มีพระกำลัง แม้กระนั้นก็ดี สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวก็เสด็จประพาสเยี่ยมราษฎรเป็นพระราชกรณีกิจของพระองค์ ครั้งต่อมาพระอาการเกี่ยวกับพระนาภีก็ยังมิได้ทุเลาลงจึงต้องเสด็จประทับอยู่แต่บนพระที่นั่ง มิได้เสด็จออกงานตามหมายกำหนดการ ครั้นวันที่ 9 มิถุนายน ศกนี้ เมื่อตื่นพระบรรทมตอนเช้าเวลา 6.00 นาฬิกา ได้เสวยพระโอสถน้ำมันละหุ่งแล้วเข้าห้องสรงซึ่งเป็นพระราชกิจประจำวันแล้วก็เสด็จเข้าพระที่
.
     ครั้นประมาณเวลา 9.00 นาฬิกา มหาดเล็กห้องพระบรรทมได้ยินเสียงปืนดังขึ้นในพระที่นั่งจึงวิ่งเข้าไปดูเห็นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรรทมอยู่บนพระที่ มีพระโลหิตไหลเปื้อน พระองค์สวรรคตเสียแล้วที่ห้องพระบรรทม จึงได้ไปกราบทูลสมเด็จพระราชชนนีให้ทรงทราบมหาดเล็ก แล้วเสด็จไปถวายบังคมพระบรมศพ ต่อนั้นมามีพระบรมวงศ์ชั้นผู้ใหญ่ นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ได้เข้าไปกราบถวายบังคมและอธิบดีกรมตำรวจกับอธิบดีกรมการแพทย์ได้ไปถวายตรวจพระบรมศพและสอบสวน…” [บางส่วนจากคำแถลงของนายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะนายกรัฐมนตรีแถลงต่อที่ประชุมรัฐสภาฯ กรณีสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ในวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 เวลา 21.00 น.]
.
และก่อนการปิดประชุมสภาฯ ในค่ำวันเดียวกัน นายปรีดียังได้แจ้งที่ประชุมสภาฯ อีกว่า
.
“ข้าพเจ้าได้รับแต่งตั้งให้เป็นนายกรัฐมนตรีโดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และบัดนี้ท่านได้สวรรคตแล้ว ข้าพเจ้าจึงได้ยื่นใบลาออกต่อคณะผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ชั่วคราว”
.
     เช้าของวันที่ 9 มิถุนายน 2489 ณ พระที่นั่งบรมพิมาน ท่ามกลางความเงียบของโมงยามอันสงัดได้เกิดเสียงปืนดังขึ้นหนึ่งนัด เมื่อตามหาต้นตอของเสียงปืนดังกล่าวจึงพบว่า เหตุเกิดขึ้นในห้องบรรทมของในหลวงอานันทมหิดล บนพระศพพบบาดแผลบริเวณกลางพระนลาฏ (หน้าผาก) ระหว่างพระขนง (คิ้ว) อีกทั้งยังพบปืนในบริเวณที่เกิดเหตุอีกด้วย
.
     กรณีการสวรรคตของรัชกาลที่ 8 ได้กลายเป็นอีกหนึ่งจุดเปลี่ยนการเมืองไทย ด้วยเพราะการตรวจสอบสาเหตุของการสวรรคตเป็นไปด้วยความยากลำบาก ความเคลือบแคลงใจได้ก่อตัวขึ้นในหมู่สาธารณชน เมื่อความจริงยังมิอาจปรากฏ ความคลุมเครือจึงถูกหยิบฉวยนำมาใช้เป็นเครื่องมือของฝ่ายตรงข้ามเพื่อโจมตีรัฐบาลภายใต้ผู้ที่ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นคือ 'นายปรีดี พนมยงค์'​
.
     ถัดจากเหตุการณ์สวรรคตเพียงไม่นาน ในวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 ได้เกิดเหตุการณ์รัฐประหาร นำโดย 'ผิน ชุณหะวัณ' โค่นล้มรัฐบาลพลเรือตรี ถวัลย์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ โดยได้นำเรื่องการสวรรคตเข้ามาเป็นข้ออ้างหนึ่งในการก่อรัฐประหารว่านายปรีดี มีส่วนพัวพันในคดีสวรรคต การรัฐประหารครั้งนั้นได้มีการหมายเอาชีวิตของนายปรีดีและติดตามจับกุมจึงเป็นเหตุให้นายปรีดีต้องเดินทางหนีเพื่อลี้ภัยออกจากประเทศไทย
.
     ในระหว่างการลี้ภัยในต่างประเทศ นายปรีดียังคงถูกใส่ร้ายว่าเป็นผู้วางแผนการปลงพระชนม์ในหลวงรัชกาลที่ 8 จนท้ายที่สุด นายปรีดีจึงฟ้องร้องคดีฯ ต่อผู้ใส่ร้ายและกล่าวหาทั้งรายบุคคล หนังสือพิมพ์ และนักหนังสือพิมพ์ทุกรายต่อศาลกระทั่งชนะคดีทั้งหมดช่วงพ.ศ. 2513-2526
.
    ตัวอย่างกรณีที่นายปรีดีเป็นโจทก์ฟ้องต่อศาลแพ่งว่า บริษัทสยามรัฐ จำกัด ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช กับพวกเป็นจำเลยฐานใส่ความหมิ่นประมาทโจทก์ ศาลแพ่งได้พิพากษาให้จำเลยเป็นผู้รับผิดตามคำฟ้องของโจทก์ จำเลยต่อสู้ถึง 3 ศาล แต่ศาลอุทธรณ์ ศาลฎีกาตัดสินยืนตามศาลชั้นต้น ต่อมาจำเลยยอมประกาศขอขมานายปรีดีว่า
.
   “จำเลยขอแถลงความจริงว่า โจทก์ไม่เคยเป็นจำเลยในคดีสวรรคตเลย และไม่เคยถูกศาลพิพากษาว่ากระทำผิด เมื่อโจทก์ก็ไม่เคยถูกพิพากษาลงโทษจึงถือว่าโจทก์ยังบริสุทธิ์ ส่วนการที่โจทก์หลบหนีออกจากประเทศไทยนั้น เป็นเพราะหลบหนีการรัฐประหาร จึงขอให้ผู้อ่านทราบความจริงและขออภัยในความคลาดเคลื่อนนี้ด้วย”
.
    อีกกรณีที่เกิดขึ้นใน พ.ศ. 2521 นายชาลี เอี่ยมกระสินธุ์ กับพวกได้หมิ่นประมาทนายปรีดีอีกครั้ง นายปรีดีจึงได้ดำเนินการฟ้องต่อศาลแพ่งในข้อหาละเมิดและหมิ่นประมาทจนเป็นผลให้จำเลยยอมแถลงความจริงว่าโจทก์เป็นผู้บริสุทธิ์ ในปีต่อมานายปรีดีได้ตีพิมพ์คำฟ้องเหล่านั้นขึ้นเป็นหนังสือครั้งแรกโดยตั้งชื่อหนังสือว่า “คำตัดสินใหม่ กรณีสวรรคต ร.๘” เพื่อเผยแพร่ความจริงและเพื่อยืนยันความบริสุทธิ์
.
    กรณีสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระปรเมนทรมหาอานันทมหิดล รัชกาลที่ 8 ได้สร้างความเคลือบแคลงใจในสังคมไทยและความคลุมเครือนี้ได้กลายมาเป็นการใช้เป็นเครื่องมือทางการเมืองเพื่อกำจัดคณะราษฎรสายนายปรีดีนอกวิถีประชาธิปไตย แม้นายปรีดีจะถือเป็นผู้บริสุทธิ์จากข้อกล่าวหาในกรณีสวรรคตแต่ยังมี 'นายชิต สิงหเสนี', 'นายบุศย์ ปัทมศริน' และ 'นายเฉลียว ปทุมรส' ผู้บริสุทธิ์ทั้ง 3 คนที่ต้องกลายเป็นจำเลยจนถูกตัดสินประหารชีวิตเนื่องด้วยกรณีสวรรคตซึ่งความจริงยังไม่ปรากฏแน่ชัดและยังไม่มีการรื้อฟื้นคดีเพื่อเรียกร้องความเป็นธรรมแก่ทั้ง 3 คนจวบจนปัจจุบัน
.
ลำดับเหตุการณ์กรณีสวรรคต รัชกาลที่ 8
วันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 เวลา 05.00 น.-21.00 น.
.
     9 มิถุนายน พ.ศ. 2489 เวลาราวตีห้าเศษ สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงตื่นบรรทมแล้วเสด็จเข้าไปปลุกพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลที่ห้องนอนโดยเสด็จผ่านห้องแต่งพระองค์เพื่อถวายน้ำมันละหุ่ง และมีมหาดเล็ก 2 คนช่วยยกถาดตามเสด็จฯ แล้วหลังจากนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลจึงทรงบรรทมต่อ และสมเด็จพระบรมราชชนนีกลับไปบรรทมต่อเช่นกันในห้องของพระองค์เอง ขณะนั้นทางมหาดเล็กได้กลับลงมายังชั้นล่าง
.
     เวลา 7 โมงเศษ นายบุศย์ ปัทมศริน มหาดเล็กห้องพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลได้เข้ามาเวรถวายงานที่พระที่นั่งบรมพิมานซึ่งเป็นที่ประทับของรัชกาลที่ 8 และได้ยกแก้วน้ำส้มคั้นมาเตรียมถวายฯ โดยนั่งรออยู่หน้าห้องของพระองค์
.
     เวลา 7 โมงเศษ นายชิต สิงหเสนีที่ปกติเป็นมหาดเล็กประจำห้องบรรทมพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลสลับวันกับนายบุศย์กล่าวคือในวันนั้นไม่ใช่เวรของนายชิต แต่เขาได้รับมอบหมายให้ไปทำหีบพระตรา เมื่อไปถึงร้านทำหีบที่เสาชิงช้า ช่างได้บอกว่า ต้องรู้ขนาดดวงพระตราก่อนจึงจะทำหีบได้ นายชิตจึงกลับมาที่พระที่นั่งบรมพิมานเพื่อมาวัดขนาดดวงพระตราที่อยู่ตู้เซฟในห้องแต่งพระองค์ เมื่อมาถึงจุดที่นายบุศย์นั่งอยู่ทางนายบุศย์จึงแจ้งว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลทรงตื่นพระบรรทมแล้วแต่กลับไปบรรทมอีก นายชิตจึงนั่งรออยู่ที่เดียวกับนายบุศย์ เพราะเกรงว่าหากเข้าไปวัดหีบพระตราจะเป็นการรบกวนพระองค์
.
     เวลา 7 โมงเศษ มหาดเล็กหลายคนรวมทั้งนายฉลาด เทียมงามสัจ ช่วยกันยกเครื่องพระกระยาหารเช้าจากชั้นล่างขึ้นไปจัดวางที่มุขหน้า หลังจากนั้น คนอื่นๆ กลับลงไปชั้นล่าง ยกเว้นฉลาดอยู่เฝ้าเครื่องพระกระยาหาร
.
     เวลาราว 8.00 น. นายบุศย์เห็นพระอนุชา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงตื่นพระบรรทม และทรงเสด็จไปที่มุขหน้าเสวยอาหารเช้า ระหว่างนั้น นายมังกร ภมรบุตร และขุนวรศักดิ์พินิจขึ้นมาช่วยงาน หลังจากพระอนุชาทรงเสวยเสร็จก็ประมาณ 9 นาฬิกา ฉลาดยังคงอยู่เฝ้าเครื่องพระกระยาหารที่มุขหน้าปโดยรอพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และพระบรมราชชนนีเสด็จมาเสวย
.
     ส่วนพระอนุชา เสวยเสร็จแล้วทรงเสด็จจากมุขหน้าไปยังห้องบรรทมพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ซึ่งเดินมาถึงจุดที่นายชิตและนายบุศย์นั่งอยู่หน้าห้องแต่งพระองค์ ทรงถามอาการพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล บุศย์ตอบว่าทรงตื่นบรรทมแล้ว และเข้าห้องสรง แล้วทรงเข้าบรรทมอีก หลังจากนั้น พระอนุชา (จากคำให้การของทั้งชิต, บุศย์ และพระอนุชาเอง) ทรงเสด็จกลับไปทางห้องของพระองค์เองโดยทางเฉลียงหลัง เมื่อถึงห้องของพระองค์แล้ว ทรงเข้าๆ ออกๆ อยู่สองห้องคือ ห้องนอนของพระองค์เองและห้องเครื่องเล่น
.
     เวลาใกล้เคียงกัน พระพี่เลี้ยงเนื่อง จิตตดุล ซึ่งมาถึงพระที่นั่งตั้งแต่ 7 โมงเศษ ถึง 8 โมง แต่ยังไม่ได้เข้าเฝ้าทั้งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และสมเด็จพระบรมราชชนนีเพราะเห็นว่าทรงยังไม่ตื่นบรรทม จึงทำงานอื่นไปพลาง จนกระมาณ 9 นาฬิกา จึงไปที่ห้องสมเด็จพระบรมราชชนนี ซึ่งพบว่าพระองค์ทรงตื่นบรรทมแล้ว พระพี่เลี้ยงเนื่องจึงอยู่ในห้องสมเด็จพระบรมราชชนนี“เป็นเวลาราว 20 นาที” ก็เดินต่อเข้าไปยังห้องนอนพระอนุชา (สองห้องนอนเดินทะลุกันได้) เพื่อจัดเก็บฟิล์มภาพยนตร์ในห้องนั้น แต่ไม่ได้พบพระอนุชาในห้อง (“ข้าพเจ้าไม่พบใคร แม้แต่ในหลวงองค์ปัจจุบัน ซึ่งพระองค์จะเสด็จไปประทับอยู่ที่ไหนในขณะนั้นหาทราบไม่”
.
    จรูญ ตะละภัฎ ได้ให้การว่า เวลาประมาณ 9 นาฬิกา หลังจากกินอาหารเช้าที่ชั้นล่างแล้วได้ขึ้นมาที่ห้องนอนสมเด็จพระบรมราชชนนีแต่ไม่พบสมเด็จพระบรมราชชนนี“เข้าใจว่าคงเสด็จเข้าห้องสรง” เธอจึงทำการเก็บพระแท่นบรรทม (แต่สมเด็จพระบรมราชชนนีได้ให้การว่า “มีพระพี่เลี้ยงเนื่องมาที่ห้องฉัน นางสาวจรูญเข้ามาด้วยหรือไม่นั้นจำไม่ได้แน่ แต่ตามความรู้สึกแล้วรู้สึกว่าไม่ได้มา”
.
     เวลาประมาณ 9.30 น. มีเสียงปืนดังขึ้นภายในห้องบรรทมของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล นายชิตวิ่งเข้าไปดู แล้ววิ่งไปตามสมเด็จพระบรมราชชนนีเมื่อสมเด็จพระบรมราชชนนีมาถึง พบพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลทรงนอนทอดพระวรกายบนที่นอนเหมือนทรงนอนหลับปกติพระกรทั้งสองวางอยู่ข้างพระองค์ (ไม่งอ) พระวิสูตร (มุ้ง) ถูกตลบขึ้นเหนือพระแท่น บนที่นอนบริเวณใกล้พระหัตถ์ซ้ายมีปืนสั้นวางอยู่ มีแผลกระสุนที่พระนลาฎ (หน้าผาก) เหนือคิ้ว บริเวณระหว่างพระขนง (คิ้ว) ข้างพระศพบริเวณข้อพระกรซ้ายมีปืนพก US Army ขนาดกระสุน 11 มม. วางอยู่ในลักษณะชิดข้อศอก ด้ามปืนหันออกจากตัว ปากกระบอกปืนชี้ไปที่ปลายพระแท่นบรรทม สมเด็จพระบรมราชชนนีได้โถมพระองค์เข้ากอดพระบรมศพของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล จนสมเด็จพระอนุชาธิราชต้องพยุงสมเด็จพระบรมราชชนนีไปประทับที่พระเก้าอี้ปลายแท่นพระบรรทม
.
    จากนั้นพระราชชนนีจึงมีรับสั่งให้ตาม พ.ต. นายแพทย์หลวงนิตย์เวช ชวิศิษฐ์ แพทย์ประจำพระองค์มาตรวจพระอาการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ส่วนพระพี่เลี้ยงเนื่องได้จับพระชีพจรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่ข้อพระหัตถ์ซ้าย พบว่าพระชีพจรเต้นอยู่เล็กน้อยแล้วหยุด พระวรกายยังอุ่นอยู่ จึงเอาผ้าคลุมพระองค์มาซับบริเวณปากแผลและปืนกระบอกที่คาดว่าเป็นเหตุทำให้พระองค์ทรงสวรรคต ไปให้นายบุศย์เก็บพระแสงปืนไว้ที่ลิ้นชักพระภูษา เหตุการณ์ช่วงนี้เองได้ก่อปัญหาในการพิสูจน์หลักฐานในเวลาต่อมาเมื่อมีการจัดตั้ง “ศาลกลางเมือง” เพื่อสอบสวนเกี่ยวกับกรณีสวรรคต
.
     เวลาประมาณ 10.00 น. หลวงนิตย์เวชชวิศิษฐ์ได้มาถึงสถานที่เกิดเหตุและตรวจพระอาการของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พบว่าสวรรคตแน่นอนแล้วจึงกราบทูลให้สมเด็จพระบรมราชชนนีทรงทราบ สมเด็จพระบรมราชชนนีจึงรับสั่งให้ทำความสะอาดและตกแต่งพระบรมศพ เพื่อเตรียมการถวายน้ำทรงพระบรมศพในช่วงเย็น ในช่วงเวลาเดียวกันพระยาเทวาธิราช (ม.ร.ว. เทวาธิราช ป. มาลากุล) สมุหพระราชพิธีได้เดินทางไปที่ทำเนียบท่าช้าง ที่พักของนายปรีดี พนมยงค์ นายกรัฐมนตรีเพื่อแจ้งข่าวการสวรรคต (ขณะนั้นนายปรีดีประชุมอยู่กับหลวงเชวงศักดิ์สงคราม (รมว. มหาดไทย) พล.ต.อ. พระรามอินทรา (อธิบดีกรมตำรวจ) และ หลวงสัมฤทธิ์สุขุมวาท (ผู้บังคับการตำรวจสันติบาล) ในเรื่องกรรมกรที่มักกะสันหยุดงานประท้วง)
.
    เวลาประมาณ 11.00 น. นายปรีดีมาถึงพระที่นั่งบรมพิมาน และสั่งให้พระยาชาติเดชอุดมอัญเชิญพระบรมวงศานุวงศ์ชั้นผู้ใหญ่และเชิญคณะรัฐมนตรี มาประชุมเกี่ยวกับเรื่องการเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่ประชุมสรุปว่าให้ออกแถลงการณ์แจ้งให้ประชาชนทราบว่า การเสด็จสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดลเป็นอุบัติเหตุ แถลงการณ์ของกรมตำรวจที่ออกมาในวันนั้นก็มีเนื้อหาในลักษณะเดียวกัน
.
     เวลา 21.00 น. รัฐบาลเรียกประชุมรัฐสภาเป็นการด่วน เพื่อแจ้งให้สภาทราบเรื่องการสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล และสรรหาผู้สืบราชสมบัติ ที่ประชุมได้ลงมติถวายราชสมบัติให้แก่สมเด็จพระอนุชาธิราช เจ้าฟ้าภูมิพลอดุลยเดช ขึ้นสืบราชสมบัติ เป็นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช รัชกาลที่ 9 แห่งพระบรมราชจักรีวงศ์ต่อไป จากนั้นนายปรีดีได้ประกาศลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อแสดงความรับผิดชอบในกรณีสวรรคต [บางส่วนจากบทความ กรณีสวรรคตรัชกาลที่ 8 โดยธิกานต์ ศรีนารา]